คลีนิคหมอดูสุขภาพจิต คลีนิคสุขภาพจิต
จิตเวช สระบุรี
สมชาย สำราญเวชพร จิตเวช สระบุรี
หมอดูสุขภาพจิต หนังสือสุขภาพจิต สมชาย สุขภาพจิต หมอดู สระบุรี ถามตอบสุขภาพจิต หมอสมชาย สำราญเวชพร
นายแพทย์สมชาย สำราญเวชพร
นายแพทย์สมชาย สำราญเวชพร
ปัญหาสุขภาพจิต
สาระน่ารู สุขภาพจิต
โรคสมองเสื่อม (Dementia)
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
การฆ่าตัวตาย (Suicide)
สุขภาพจิตน่ารู้
 
สั่งซื้อหนังสือ
หนังสือสุขภาพจิต
Head_7.jpg
ทำดีที่สุดแล้วงั้นหรือ ?

ผมมีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง เธอเป็นแม่บ้านมาก่อน แต่ภายหลังเธอยังมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย ดังนั้นนอกจากงานบ้านแล้ว งานทางด้านสังคมจึงมีอยู่ไม่ใช่น้อยและเป็นที่มาของปัญหาระหว่างเธอกับสามี

สามีของเธอทำงานในระบบราชการท้องถิ่น และต้องออกไปทำงานทุกวันเว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อย่างไรก็ตามสามีของเธอจะกลับบ้านตรงเวลาเสมอตั้งแต่แต่งงานกันมา กล่าวได้ว่านับวันสามีของเธอยิ่งออกอาการหึงหวงมากขึ้นๆ ด้วยข้อแม้ที่ว่าเมื่อเขากลับจากที่ทำงานมาถึงบ้านยามใด เขาจะต้องพบเธออยู่ที่บ้าน มันยังกลายเป็นอุปสรรคต่องานของเธออย่างมากเมื่อเธอต้องออกไปประชุมในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ หรือออกไปรับประทานเลี้ยงในตอนเย็น จนในที่สุด เธอต้องยอมที่จะปฏิเสธการออกจากบ้านในวันเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อเธอต้องพบปะพูดคุยกับผู้คนซึ่งมีทั้งหญิงและชาย ก็อาจกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นมาได้เสมอ

สามีของเธอไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เจ้าชู้ ขยันทำแต่งาน และกลับบ้านตรงเวลา เขามีความรับผิดชอบต่อครอบครัวดีมาก เขาใส่ใจต่อการเรียนของลูกสาวคนเดียว เขาให้เงินเดือนกับภรรยาเต็มทุกเดือน ผู้ชายเยี่ยงนี้จะหาได้ที่ไหนกัน? แต่เธอบอกว่ามันไม่สำคัญเท่ากับความเจ้ากี้เจ้าการและความหึงหวงของเขา เธอต้องอดทนอย่างมากโดยเฉพาะสองปีให้หลังที่เขามักออกอาการหึงหวงอย่างรุนแรงบ่อยๆ เขาไม่ไว้ใจเธอกระทั่งเรื่องของเงินที่เธอเป็นผู้บริหาร เขาสงสัยว่าเธออาจจะนำเงินไปเที่ยวกับชายชู้ และถ้าวันใดของขึ้น เขาก็จะบริภาษเธออย่างรุนแรง เสียๆ หายๆ ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมต่างๆ อาทิ กล่าวหาว่าเธอมีชู้และเป็นคนไม่ดีอย่างสาดเสียเทเสีย แม้ว่าเธอจะปฏิเสธเขาอย่างไรก็ดูจะไม่เป็นผลเอาเสียเลย เธอต้องจำยอมรับมันโดยดุษฎีเพื่อให้เรื่องมันจบลง แต่บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะโต้เถียงเหมือนกัน ยิ่งเถียงก็ยิ่งยาว

แม้ว่าเธอจะเริ่มเศร้าและท้อแท้ไปบ้าง แต่เธอก็ยังมีไฟ เมื่อสามีไปทำงาน เธอก็มักจะออกไปที่กลุ่มแม่บ้าน ไปช่วยทำสินค้า OTOP ครั้งหนึ่งเธอโต้เถียงกับสามี “คุณไปฟังใครมาว่าฉันมีชู้” เธอพยายามจะเค้นความเข้าใจของสามีที่เผอิญวันนั้นเธอได้ยืนพูดคุยกับคนรักเก่าสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็เพียงแค่ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันไม่กี่คำเท่านั้น เพราะโดยส่วนตัว เธอเป็นคนมีอัธยาศรัยดี พูดเก่งและชอบเข้าสังคม ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ มันทำให้เธอขาดความเป็นตัวของตัวเอง แม้กระนั้นลูกสาวก็พลอยเครียดไปด้วยอีกคน เธอมักปรับทุกข์กับลูกสาวบ่อยๆ เธอบ่นว่าถ้าเธอไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ป่านนี้เธอคงเปิดก้นหนีไปแล้ว เธอยังไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย เธอยอมรับว่าบางครั้งเธอก็โกรธสามีอย่างมาก แต่ทำไงได้ ถ้าเธอยอมได้แล้วครอบครัวมีความสุข เธอก็ยินยอมได้เสมอ

ข้อดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือแม้ว่าจะทะเลาะกันอย่างรุนแรงแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ไม่มีการท้าทายหย่าร้าง เธอรู้สึกสงสารตัวเองเหลือกำลัง นี่ถ้าเธอมีสามีที่ใจคอกว้างขวางกว่านี้ ป่านนี้เธอคงได้เป็นผู้ใหญ่บ้านไปนานแล้ว หรือบางทีสมัยหน้าเธอคงต้องยอมที่จะลาออกมาเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่เธอก็นึกแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่แม้จะอยู่ด้วยกันที่บ้านตลอดทั้งวัน และเธอก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย สามีของเธอก็ยังหาว่าเธอกำลังคิดถึงชู้อยู่ดี เขารู้ได้ไงเนี่ย (เขาเรียกว่าอาการหลงผิดหูแว่วครับ)

เธอได้รับยาคลายเครียดและยาต้านเศร้าจากผมไปรับระทาน มันทำให้เธอดีขึ้นบ้าง แต่ตราบใดที่ปัญหายังไม่คลี่คลาย สมองของเธอก็ยังคงมีความผิดปกติของสารชีวเคมีอยู่ดี การให้ยาเพื่อปรับเปลี่ยนสมดุลของสารชีวเคมีจึงเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น และถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องพูดกับเธอถึงต้นเหตุ ผมปล่อยให้เธอตัดสินใจเองมานานมากแล้ว มันทำให้เธอขาดความสุขและสร้างปัญหาในการรักษาให้กับผม

ผมถามเธอว่าเธอจะทำอย่างไรต่อไป เธอบอกว่า “ฉันทนได้ ถึงแม้เขาจะฆ่าฉัน ฉันก็ยอม” ผมถามเธอถึงสาเหตุของปัญหา เธอสงสัยว่าอาจมีใครบางคนมาเที่ยวพูดยุแยงให้ครอบครัวของเธอแตกแยกกัน เธอเคยถามสามีว่าใครนะที่ปากบอน แต่สามีก็ไม่ตอบ ผมจึงถามเธอต่อ “นี่ขนาดอยู่ด้วยกันตลอดเวลา แล้วเขายังพูดว่าคุณกำลังคิดถึงชู้ คุณไม่แปลกใจบ้างหรือ?” เธอแสดงความคิดเห็น “เขาก็ดีๆ อยู่นะ ทำงานได้ตามปกติ” ผมจึงถามเธอต่อไป “ถ้าคุณว่าเขาปกติ ผมขอถามคุณหน่อยว่า ใครๆ เขาคิดกันอย่างนี้หรือ?” เธอตอบผมว่าไม่ทราบ แต่ผมคาดว่าเธอก็คงตอบได้เอง “ใช่ เขาไม่เหมือนคนทั่วๆ ไป”

ผมถามเธอต่อ “คุณคิดว่าคุณทำดีแล้วหรือ?” เธอยืนยันอย่างหนักแน่น “จะมีผู้หญิงคนไหนที่ยอมสามีได้เท่ากับฉันนะ ฉันทำดีที่สุดแล้ว” ผมสั่นศีรษะ แสดงถึงอาการไม่ยอมรับต่อความคิดเห็นของเธอ ซึ่งทำให้เธอฉงนสงสัย ผมพยายามอธิบาย “ถ้าคุณมีลูกเล็ก แล้วลูกของคุณร้องไห้จะนอนดึกๆ เที่ยงคืนแล้วก็ยังไม่ยอมนอน ยังจะเล่นของเล่นอยู่ คุณจะยอมลูกคุณไหม? เพราะเด็กเล็กๆ เขานอนกันแต่หัววันทั้งนั้น” ผมยกตัวอย่างแค่เบาๆ ไม่อยากไปตำหนิเธอเลย เธอได้แต่รับฟัง ผมจึงพูดต่อ “ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของภรรยาที่เมื่อเห็นสามีเจ็บป่วย จะต้องนำตัวไปรักษานะ” เธอถามผม “เขาป่วยหรือ? ฉันไม่แน่ใจ!” ผมพยักหน้าพร้อมส่งเสียงในลำคอออกมา “ฮือ” เธอถามผมบ้าง “ถ้าเขาไม่ยอมมาล่ะ” ผมกระตุ้นเธอ “คุณต้องทำให้เขามาให้ได้ คุณจะบอกว่าทำดีที่สุดแล้วทั้งๆ ที่เขาคิดไม่เหมือนคนปกติทั่วไปที่เขาคิดกัน แล้วเขาเองก็ไม่มีความสุข ครอบครัวก็ไม่มีความสุข คุณคิดว่าคุณควรจะทำอย่างไรดี?” ในที่สุด เธอก็ตอบผม “ฉันก็ต้องพาเขามา” ผมพยักหน้าทันที ผมตอบเธอ “ใช่”

เธอกลับไป ผมไม่รู้หรอกว่าเธอคิดอย่างไร? แต่โรคทางจิตเวชมันไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม มันเหมือนโรคทั่วไปที่ต้องได้รับการรักษา และคนที่ใกล้ชิดจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการนำพาคนป่วยไปหาแพทย์ มันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำจริงๆ

 
Copy All Right Reserved 2013 www.หมอดูสุขภาพจิต.com
เลขที่ 1/26 ถ.สุดบรรทัด13 ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี 18120